การเพาะขยายพันธุ์ไม่ดอกไม้ประดับ

  • การเพาะขยายพันธุ์ไม่ดอกไม้ประดับ

    การขยายพันธุ์ คือ การเพิ่มจำนวนต้นพืช สำหรับไม้ดอกนิยมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และการชำส่วนต่าง ๆ ของลำตัน

    การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายแต่ผู้ปลูกต้องรู้ว่าถ้าเก็บเมล็ดไว้ปลูกโดยไม่รู้จักเลือกเก็บแล้ว ต้นใหม่ที่ได้มักไม่คงลักษณะดีเด่นของต้นแม่ไว้ เนื่องจากเมล็ดได้มาจากการผสมของเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ซึ่งต่างก็มียีนส์ควบคุมลักษณะจำนวนมากด้วยกัน เมื่อจับคู่กันใหม่จึงทำให้ได้ลักษณะที่ไม่เหมือนเดิม เราเรียกว่า การกลายพันธุ์ และมักจะกลายไปในทางเลวกว่าต้นแม่ เมล็ดที่ผลิตเป็นการค้าและจัดว่ามีคุณภาพดีนั้นจะต้องมีความตรงตามพันธุ์ มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง เมื่องอกแล้วให้ต้นกล้าที่แข็งแรงและไม่มีโรคติดมากับเมล็ด ตัวอย่างของการตรงตามพันธุ์ คือ ถ้าตามแคตตาล็อกบรรยายไว้ว่า บานชื่นพันธุ์ Polar Bear มีดอกขนาดใหญ่มาก เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว สีขาวบริสุทธิ์ กลีบดอกซ้อนกันแน่นทำให้ดอกหนาถึง 4 นิ้ว เมื่อผู้ซื้อซื้อมาปลูกก็ควรได้ลักษณะดอกตามนั้น ตั้งแต่ สี ขนาดดอก และความหนาของดอก บริษัทใดที่ผลิตเมล็ดออกมาแล้วผู้ซื้อนำไปใช้ แล้วผิดหวัง เพราะคุณภาพไม่ดีเหมือนที่โฆษณาไว้ก็จะเลิกซื้อจากบริษัทนั้น การผลิตเมล็ดพันธุ์จึงเป็นกิจการที่ต้องแข่งขันกันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศด้วย เพราะผู้ซื้อมีโอกาสเลือกได้ตามใจชอบ

    โดยทั่วไป การผลิตเมล็ดพันธุ์จะต้องมีนักผสมพันธุ์พืชคัดเลือกและควบคุมการผสมเกสร ระหว่างต้นพ่อและต้นแม่เพื่อให้มีลักษณะตามต้องการ ยิ่งถ้าเป็นเมล็ดลูกผสมชั่วที่ 1(F1 hybrid, F มาจาก Filial แปลว่ารุ่นลูก) จะมีคุณสมบัติที่เด่นคือ ให้ต้นที่มีความสูงสม่ำเสมอ ออกดอกพร้อมๆ กัน ให้สีดีและบางชนิดอาจให้ดอกเร็วกว่าพันธุ์ธรรมดา แต่เมล็ดที่เก็บจาก F1 คือ F2 จะมีลักษณะด้อยกว่า F1 จนไม่แนะนำให้เก็บไว้ใช้รุ่นต่อไป ตัวอย่างเช่น เมล็ด F1 hybrid ของดาวเรืองพันธุ์ Climax ให้ดอกใหญ่สีเหลือง ขนาด 5 นิ้ว กลีบดอกซ้อนกันมากมายจนดูดอกกลมเหมือนลูกบอล ประกวดที่ใดก็มักชนะได้รางวัลเสมอ เท่าที่ทดลองเก็บเมล็ดของ F1 ไว้แล้วเพาะในจำนวนต้น F2 800 ต้น มีเพียง 1 ต้นเท่า นั้นที่ยังได้ดาวเรืองกลีบซ้อน ดอกกลมเหมือนรุ่นแม่ นอกนั้นดอกจะมีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 3 นิ้วครึ่ง มีกลีบดอกน้อยลงมาก ทำให้ดอกแบนราบไม่สวยเลย ทำให้เสียแรงงาน เสียเวลา เนื่องจากฤดูกาลที่จะปลูกดอกไม้ได้สวยมากในปีหนึ่งนั้นมีครั้งเดียว



    อนึ่ง ถ้าไม่ใช่เมล็ดลูกผสม (ไม่มีคำว่า hybrid นำหน้าหรือตามหลังชื่อดอกที่ซองเมล็ดพันธุ์) จะเก็บเมล็ดไวใช้ได้ การปลูกเพื่อผลิตเมล็ดนั้นบริเวณที่ปลูกต้องไม่มีพันธุ์พืชที่ใกล้เคียงกันปลูกอยู่หรือ ถ้ามีต้องอยู่ห่างไปอย่างน้อย 200 เมตร เพื่อป้องกันการผสมข้าม ลักษณะของรุ่นลูกอาจแตกต่างจากรุ่นแม่ไปบ้างแต่ไม่กระไรนัก บางชนิดไม่เปลี่ยนเลย การเก็บเมล็ดทำได้โดยเก็บเมล็ดที่แก่แล้วตากแดดไว้สัก 1 – 2 แดดแล้วนำมาผึ่งในร่มให้แห้งจะปลอดภัยดีกว่า เพราะเมล็ดดอกไม้มักมีสีเข้มและมีขนาดเล็กเป็นส่วนมาก การผึ่งแดดจัดกลางแจ้งในสภาพอากาศเมืองไทย อาจทำให้เมล็ดตายหรือเสียความงอก การทดสอบง่ายๆ ว่าเมล็ดแห้งทำได้โดยเอาใส่ถุงพลาสติกแล้วปิดให้แน่น ถ้าไม่มีฝ้าไอน้ำเกิดขึ้นในถุงก็ใช้ได้ การเก็บเมล็ดในภาชนะที่ปิดสนิทในที่เย็นและแห้งจะเก็บไว้ได้นานเป็นปี ในทางการค้าผู้ผลิตจะลดความชื้นในเมล็ดลงจนเหลือ 5-10% แล้วบรรจุในภาชนะที่ป้องกันการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และการถ่ายเทความชื้นจากอากาศภายนอกเข้ามาในเมล็ด เช่น กระป๋องดีบุก หรือซองที่ทำด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ ซึ่งถ้าผู้ซื้อเปิดใช้แล้วและใช้ไม่หมด ควรผนึกให้แน่นแล้วเก็บไว้ในที่เย็น ถ้ามีตู้เย็นควรใส่ไว้ในช่องเก็บผัก(อุณหภูมิประมาณ 4 °) เมล็ดเก่าหรือเมล็ดใหม่ที่เก็บไว้ไม่ดีจะเสียความงอกไปมากหรืองอกแล้วได้ต้นกล้าที่ไม่แข็งแรง การเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์จึงควรเลือกซื้อเมล็ดใหม่ ถ้าซองบรรจุเมล็ดทำด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ก็ยิ่งดี

  • การเพาะเมล็ดทำได้ 2 วิธี คือการหว่านโดยตรงในแปลงปลูก และการเพาะเมล็ดในโรงเรือน แล้วย้ายปลูก

    การหว่านโดยตรงในแปลงปลูกมักใช้กับเมล็ดพืชที่มีขนาดใหญ่ซึ่งเมื่อต้นกล้างอกแล้ว โตเร็ว สามารถต่อสู้กับสภาพแวดล้อมกลางแจ้งได้ วิธีนี้ได้เปรียบตรงที่ต้นกล้าไม่ชะงักเนื่องจากการย้าย ทำให้ออกดอกเร็วกว่า การเพาะต้นกล้าในโรงเรือน ใช้กับเมล็ดที่มีขนาดเล็กมากๆ หรือเมล็ดที่มีราคาแพง ผู้ปลูกไม่อยากเสี่ยงกับการหว่านโดยตรงในแปลง ซึ่งเมล็ดอาจจะถูกฝนตกหนัก แดดร้อนจัดทำให้เมล็ดไม่งอก หรืองอกแล้วตายไป ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะแบบนี้อาจมีช่วงชะงักการเติบโตตอนย้ายออกแปลง แต่ผู้ปลูกช่วยได้โดยย้ายต้นกล้าตอนที่ยังไม่โตมาก และตักดินหุ้มรากไปมาก ๆ ให้ต้นได้รับการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด ดินที่ใช้เพาะเมล็ดเล็กๆ ควรเก็บความชื้นได้ดี ระบายนํ้าดี โปร่ง มีอินทรีย์วัตถุบ้าง ตัวอย่างเครื่องปลูกที่ใช้ได้แก่ ดิน 1 ส่วน ทราย 1 ส่วน ปุ๋ยคอกเก่าๆ 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน คลุกให้เข้ากันดี

  • การขยายพันธุ์โดยการปักชำ

    การขยายพันธุ์โดยการปักชำส่วนต่างๆ ของลำต้นทำได้สำเร็จเพราะพืชมีความสามารถที่จะสร้างส่วนที่ขาดนั้นขึ้นมาเพื่อให้ได้ต้นใหม่ คือ พืชต้นหนึ่งประกอบด้วยต้นและราก เราสามารถตัดกิ่งมาชำแล้วได้รากใหม่ ถ้าตัดรากไปชำ ตาที่ท่อนรากสามารถเกิดเป็นต้นใหม่ หรือเมื่อตัดใบมาชำ สามารถได้ทั้งต้นและรากใหม่ แต่ทั้งนี้พืชมีความสามารถในการสร้างส่วนที่ขาดมาทดแทนได้ต่างกัน พืชบางชนิดเท่านั้นที่สามารถขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง เช่น เฟื่องฟ้าปักชำกิ่งแก่ได้ต้นใหม่ในเวลาไม่นานนัก แต่เฟื่องฟ้าชำใบไม่ได้ ในขณะที่ไม้ดอกหลายชนิดสามารถเกิดต้นใหม่โดยการชำใบ เช่น แอฟริกัน ไวโอเล็ต กล็อกซีเนีย การรู้จักชนิดของพืชและวิธีเฉพาะในการขยายพันธุ์พืชนั้นๆ จึงมีประโยชน์มาก

    1. การปักชำกิ่ง คือ

    การตัดกิ่งออกเป็นท่อนๆ แล้วนำไปชำกิ่งที่ใช้แบ่งออกได้ตามความแก่อ่อนของเนื้อไม้ ดังนี้ การปักชำกิ่งแก่ กิ่งแก่คือ กิ่งที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป เนื้อไม้มีสีนํ้าตาลและไม่มีใบติด ถ้าหักดูจะรู้สึกถึงความแข็งของเนื้อไม้ นำกิ่งแก่มาตัดเป็นท่อนๆ ท่อนหนึ่งยาวประมาณ 1 คืบ แล้วนำไปปักชำ เอาโคนปักลงในวัสดุปักชำ ตัวอย่างพืชที่ปักชำกิ่งแก่ได้ คือ โพธิ์แดง เทียนหยด ไผ่ กุหลาบที่ใช้ทำต้นตอ เฟื่องฟ้า การปักชำกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ได้แก่ กิ่งที่เจริญมาแล้ว 1 ฤดู มีสีเขียวอมน้ำตาล มีใบติด ตัวอย่างเช่น ชบา เฟื่องฟ้า มะลิ หูกระต่าย หูปลาช่อน เล็บครุฑ โกสนบางพันธุ์ การปักชำกิ่งอ่อน ได้แก่กิ่งยอดที่เพิ่งแตกมาใหม่ มีสีเขียวอ่อน เนื้อไม้ยังอ่อนอยู่มีใบติดมาก เช่น กุหลาบ ซองออฟจาไมกา (ไม้ใบ) การปักชำกิ่งยอดของไม้พุ่มเนื้ออ่อน คือ การตัดยอดยาวประมาณ 3-5 นิ้ว มาปักชำ เอาใบล่างๆ ออกเสียบ้าง ตัวอย่างไม้พุ่มเนื้ออ่อนได้แก่ เบญจมาศ ไฮเดรนเยีย คาร์เนชั่น เจอเรเนียม ฤาษีผสม รักเร่ ลั่นทม

    2. การปักชำใบ มีหลายแบบ

    การปักชำแผ่นใบ โดยการนำแผ่นใบมาตัดเป็นท่อน หรือเป็นชิ้นๆ แล้วนำไปชำ เช่น ว่านหางจระเข้ บีโกเนีย
    การปักชำแผ่นใบติดก้านใบ นำทั้งใบและก้านแล้วปักโคนก้านใบลงในวัสดุปักชำ เช่น แอฟริกันไวโอเล็ต เพเพอโรเมีย กล๊อกซีเนีย เอพีเซีย
    การปักชำใบติดตา นำใบติดก้านใบ และเฉือนตาที่อยู่โคนก้านใบติดมาด้วย วิธีนี้ใช้กับพืชที่สามารถออกราก แต่ไม่สามารถเกิดต้นใหม่ จึงเอาตาติดไปด้วยเพื่อให้ตาเจริญเป็นต้น เช่น ยางอินเดีย เบญจมาศ
    การปักชำโดยการกรีดเส้นใบ ใช้มีดกรีดเส้นกลางใบให้ขาดเป็นช่วงๆ แล้ววางแผ่นใบให้แนบสนิทกับวัสดุปักชำให้ได้รับความชื้นเสมอ หรือใช้ไม้เล็กๆ ตรึงใบให้แนบกับเครื่องปลูก วิธีนี้ได้หลายต้นจากใบเดียว ต้นใหม่จะเกิดขึ้นตรงรอยตัดของเส้นกลางใบ เช่น บีโกเนีย

    3. การปักชำราก เป็นวิธีที่ใช้ได้แต่ไม่เป็นที่นิยม

    เพราะพืชที่ขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีนี้สามารถใช้วิธีปักชำกิ่งหรือตอนกิ่งได้ด้วย และทำได้สะดวกกว่าได้ต้นใหม่เร็วกว่า การปักชำรากต้องขุดเอารากมาตัดเป็นท่อน ๆ วางชิ้นรากในแนวนอนกับเครื่องปลูกประมาณ 2 เดือน จะได้ต้นใหม่เกิดขึ้นนำไปปลูกได้ ตัวอย่างเช่น สายรุ้ง เข็ม ฟลอกซ์ สแตทิส วัสดุที่ใช้ปักชำควรโปร่ง แต่เก็บความชื้นได้ดี เช่น ทรายและขี้เถ้าแกลบเก่าๆ อย่างละเท่าๆ กัน คลุกให้เข้ากันดีแล้วรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอจนกว่าจะออกราก

    แหล่งที่มา

    https://www.thaikasetsart.com/การขยายพันธุ์ไม้ดอก/